อมรรัตน์

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีทำการทำไข่เค็มใบเตย

วิธีทำการทำไข่เค็มใบเตย 
 

     คุณทศพร ช่วยบุญ เป็นเกษตรกรแห่งชุมชนบ้านดอนจัน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่2 ตำบลบ้านจ่า อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันคุณทศพรมีอายุ 57 ปี มีพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวน 23 ไร่ 3 งาน คุณทศพร ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการประกอบอาชีพการเกษตรให้ฟังว่า ในอดีตนั้นคุณทศพร รับราชการเป็นทหารหญิง อยู่หลายปี จนกระทั่ง พ่อแม่ของสามีเสียชีวิต ทำให้ไม่มีใครดูแลพื้นที่การเกษตรที่บ้าน ประจวบกับคุณทศพร เริ่มเบื่อสภาพการรับราชการ จึงกลับมาดูแลพื้นที่การเกษตรเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ นับได้ประมาณ 13 ปีกับประสบการในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนอกจากนี้ยังมีความสามารถในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการทำไข่เค็มใบเตย ซึ่งไม่เคยเผยเคล็ดลับกับใคร แต่วันนี้อยากจะเผยเป็นวิทยาทานแก่ท่านที่สนใจ และนำไปประกอบอาชีพกัน
               วัสดุอุปกรณ์
     1.ใบเตย จำนวน 1 กิโลกรัม
     2.ไข่เป็ดสดใหม่ จำนวน 100 ฟอง
     3.เกลือ จำนวน 1 ถ้วย ต่อน้ำ 3 ถ้วย
     4.เหล้าข้าว จำนวน 3 ฝา (ฝาขวดแม่โขง)
               วิธีการทำ
     1.นำใบเตยจำนวน ½ กิโลกรัม มาต้ม พร้อมน้ำเกลือ (โดยจำนวนน้ำที่ต้มต้องให้ท่วมไข่เมื่อนำใส่ภาชนะแล้ว)
     2.นำใบเตยส่วนที่เหลืออีก ½ กิโลกรัม ไปปั่นจนละเอียด เมื่อละเอียดแล้ว ให้นำไปใส่ในภาชนะที่จะใช้ดองไข่ ซึ่งใบเตยจะทำให้ได้สีเขียวธรรมชาติ ไข่เค็มมีกลิ่นหอมของใบเตย
     3.ล้างไข่เป็ดให้สะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้ง
     4.นำไข่เป็ดที่ล้างและผึ่งให้แห้งแล้ว มาใส่ภาชนะที่ใช้ดอง
     5.เมื่อต้มน้ำในข้อ 1. จนเกลือละลายหมดแล้ว ให้ยกลงจากเตา พักไว้ให้เย็น
     6.เมื่อน้ำเกลือเย็นแล้วให้นำเหล้าขาวมาเทผสมลงไป จำนวน 3 ฝา (ฝาขวดแม่โขง) ซึ่งสูตรนี้เหล้าขาวจะทำให้เนื้อไข่แดงมีความนวลน่ารับประทาน ไข่แดงเป็นตานี
     7.นำน้ำเกลือที่ผสมเหล้าแล้วไปใส่ในภาชนะดองไข่ โดยเทน้ำให้ท่วมไข่ทั้งหมด ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม
               การนำไปรับประทาน
     1.เมื่อดองไข่ได้ 7 – 15 วันสามารถนำมาทอดเป็นไข่ดาวได้
     2.เมื่อดองได้ 20 วัน ก็จะเป็นไข่เค็มที่สมบูรณ์ สามารถนำมาต้มรับประทานได้ หรือจะนำไปใส่ภาชนะที่มีความโปร่งเก็บไว้ในตู้เย็นนานหลายเดือน เทคนิคของการต้มไข่อีกอย่างคือ ในขณะต้มไข่ให้ใส่สารส้มลงไป 1 ก้อน (ก้อนเท่ากำมือ) วิธีนี้จะทำให้ไข่ขาวนวล น่ารับประทานยิ่งขึ้น

ที่มา:รักบ้านเกิด
 อายุของผลิตภัณฑ์อาหาร
ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  การกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการจำต้องกำหนด  เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยชี้แนวทางการลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต  แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการเลือกสรรจัดหาวัตถุดิบและสารปรุงแต่งต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดคุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าให้ได้ตามอายุที่กำหนด

4.1  การหาอายุของผลิตภัณฑ์อาหาร
การหาอายุของผลิตภัณฑ์อาหารได้รับวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานพอสมควร  ในปัจจุบันความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของอาหาร  สภาวะการแข่งขัน  ข้อกฎหมายที่บังคับและลงโทษต่างมีบทบาทสร้างความกดดันให้ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารให้ความสนใจในด้านนี้มากยิ่งขึ้น  ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นผลิตอาหารที่ปลอดภัย  คุณภาพคงที่  มีคุณค่าทางโภชนาการ  ต้องหาวิธีที่จะประเมินอายุของผลิตภัณฑ์อาหารให้ถูกต้องและสามารถผลิตอาหารให้เก็บได้ตามเวลาที่ต้องการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice หรือ GMP)

นิยาม  : อายุของผลิตภัณฑ์อาหาร  คือ  ช่วงระยะเวลาที่สินค้าอยู่ในบรรจุภัณฑ์และสามารถรักษา   คุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ภายใต้สภาวะการเก็บหนึ่งๆ

จากคำนิยามจะพบว่าองค์ประกอบของอายุผลิตภัณฑ์อาหารแปรผันกับ  3  ปัจจัยหลัก  คือ  ตัวสินค้า  บรรจุภัณฑ์  และสิ่งแวดล้อม  หลังจากที่ได้รับการแปรรูปและผ่านกระบวนการผลิตแล้ว

4.1.1  ปัจจัยที่สัมพันธ์กับอายุผลิตภัณฑ์อาหาร
(1)  สินค้า
สินค้าจะเสื่อมคุณภาพด้วยปฏิกิริยาต่างๆ กัน  สินค้าบางอย่างเมื่อได้รับความชื้นก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ  เช่น  ข้าวเกรียบ  สินค้าบางอย่างเมื่อทิ้งไว้นานจะเกิดกลิ่นเหม็นหืน  เช่น  อาหารขบเคี้ยว  คุณภาพที่ยอมรับไม่ได้ของสินค้าย่อมต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง  โดยการควบคุมคุณภาพและใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม

เมื่อสามารถหาสาเหตุการเสื่อมคุณภาพของอาหารแล้ว  จะต้องกำหนดว่ามาตรฐานหรือระดับคุณภาพขนาดไหนจะไม่เป็นที่ยอมรับ  การกำหนดระดับคุณภาพที่ยอมรับไม่ได้นี้  จำเป็นต้องให้ชิมและสัมภาษณ์จากกลุ่มเป้าหมายที่เรียกว่า  Sensory Panel  กลุ่มเป้าหมายที่จะทดสอบการยอมรับของคุณภาพสินค้าจำต้องใกล้เคียงกลุ่มบริโภคที่จะซื้อจริงเมื่อวางจำหน่ายสินค้า

อาหารที่จะนำมาประเมินอายุจะต้องบรรยายส่วนประกอบของอาหารและกระบวนการผลิตอย่างละเอียด  เนื่องจากการแปรเปลี่ยนองค์ประกอบใดๆ องค์ประกอบหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่ออายุของอาหารและรสชาติในการทดสอบเพื่อประเมินจำต้องเขียนองค์ประกอบต่างๆ กำกับไว้บนตัวอย่างให้ชัดเจน

(2)  บรรจุภัณฑ์
ตัวบรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้สินค้าเสื่อมคุณภาพเร็วจนเกินไป  อาหารบางชนิดที่ไวต่อความชื้น  วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้จะต้องมีความสามารถป้องกันความชื้นได้  ซึ่งวัดเป็นค่าอัตราการซึมผ่านของความชื้น (WVTR - Water Vapor Transmission Rate) ส่วนอาหารบางชนิดที่มีไขมันมากจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วเกิดกลิ่นเหม็นหืน  จำต้องเลือกวัสดุที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจนที่วัดด้วยค่าอัตราการซึมผ่านของออกซิเจน (OTR -Oxygen Transmission Rate) ระดับการป้องกันของอาหารชนิดเดียวกันจะแตกต่างกันถ้าเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน  นอกจากความชื้นและออกซิเจนซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของอาหารแล้ว  อัตราการซึมผ่านของกลิ่นหรือก๊าซอื่นๆ ก็จะมีผลต่อคุณภาพของอาหารแต่ไม่ร้ายแรงเท่ากับความชื้นและออกซิเจน

วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ทดสอบประเมินหาอายุของอาหาร  จำต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน  ตั้งแต่โครงสร้างรวมกระทั่งถึงแหล่งผลิต  รายละเอียดที่จำเป็นต้องทราบคือ  อัตราการซึมผ่านของสารที่มีโอกาสทำปฏิกิริยา  แล้วส่งผลให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ  พื้นที่ผิวบรรจุภัณฑ์  น้ำหนักสินค้าและวิธีการปิดผนึกของบรรจุภัณฑ์  เป็นต้น

(3)  สิ่งแวดล้อม
การขนย้ายสินค้าอาหารจากแหล่งผลิตไปยังจุดขายย่อมมีโอกาสทำให้อาหารบอบช้ำและอาจเสียหายจนขายไม่ได้  ในทางปฏิบัติสินค้าจำพวกอาหารจะยินยอมให้เกิดความเสียหายได้ประมาณ  3% - 10%  แปรตามมูลค่าของอาหาร

อายุของอาหารแปรผกผันกับประสิทธิภาพในการขนส่ง  สินค้าที่มีอายุสั้นยิ่งจำเป็นต้องใช้การขนส่งที่มีประสิทธิผลและใช้พาหนะที่มีความเร็วสูง  เช่น  การใช้เครื่องบินในการขนผัก ผลไม้สดที่มีอายุสั้นมาก  เป็นต้น  นอกจากนี้สินค้าอาหารที่เหมาะสมกับการขนส่งที่ใช้เวลา  เช่น  เรือและรถยนต์  จำเป็นต้องมีอายุสินค้าที่ยาวนาน

ภายใต้กระแสความต้องการของสังคมที่จะประหยัดพลังงาน  การขนส่งด้วยตู้ขนส่งที่มีการปรับอากาศก็จะมีโอกาสใช้น้อยลง  และหันมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ไม่ต้องแช่เย็นมากขึ้นหรือที่เรียกว่า Shelf Stable Products  ซึ่งสินค้าจำพวกนี้มีอายุการเก็บยาวนานขึ้น  ความจำเป็นในการพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงจึงจะมีมากขึ้น
               
4.1.2  กลไกที่ทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพ (food spoilage)
ในสภาพความเป็นจริง  ปฏิกิริยาต่างๆ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสื่อมคุณภาพมีอยู่มากมายคุณภาพที่เสื่อมสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้แก่  สีที่เปลี่ยนไป  รสชาติเปลี่ยน  กลิ่นเปลี่ยน  และที่สำคัญคือ  คุณค่าทางอาหารหายไป  ปฏิกิริยาต่างๆ ที่ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพเหล่านี้เปลี่ยนไป  อาจเกิดจากสาเหตุนานาประการดังต่อไปนี้
- การเก็บเกี่ยววัตถุดิบ
- การเสื่อมคุณภาพของเอนไซม์ระหว่างการผลิต
- การสูญเสียหรือการเพิ่มของความชื้น
- การทำปฏิกิริยาของน้ำตาลและกรดอะมิโนในอาหาร
- การตกผลึกของแป้งส่งกลิ่นเหม็น
- การทำปฏิกิริยาของไขมัน การออกซิเดชั่นทำให้เหม็นหืนและสูญเสียคุณค่าอาหาร
- การแยกตัว (Migration) ของบรรจุภัณฑ์
- การซึมผ่านวัสดุบรรจุภัณฑ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก
- การเร่งปฏิกิริยาของแสง ทำให้คุณภาพเสื่อม
- การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของอนุมูลอิสระ(Oxidative Free Radicals)
- อื่นๆ

ปฏิกิริยาที่ยกมานี้ได้รับการศึกษาจากนักวิจัยทั่วโลก  พอสรุปแยกประเภทของปฏิริยาได้เป็น  3  ประเภท  คือ
1. ปฏิกิริยาชีวเคมี เกิดจากจุลินทรีย์ที่ใช้สารอาหารในการเติบโต
2. ปฏิกิริยาทางเคมี เกิดจากสารพิษตกค้าง หรือการแยกตัวของบรรจุภัณฑ์
3. ปฏิกิริยาทางกายภาพ เกิดจากการเร่งปฏิกิริยาของแสง การสูญเสียหรือเพิ่มของความชื้น

บางปฏิกิริยาที่ทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพไม่สามารถทำความเข้าใจได้ถ่องแท้  ดังนั้นการที่จะยืดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วยการเข้าใจและอธิบายปฏิกิริยาแต่ละอย่างนั้น  จึงเป็นไปได้ยากพอสมควร  แต่ความจำเป็นในการประเมินและกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์อาหาร  ทำให้ใช้วิธีการที่ใช้บรรทัดฐานของการยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ตั้ง  ถ้าสภาวะการเสื่อมคุณภาพของอาหารเกิด  จนกระทั่งถึงระดับที่กลุ่มเป้าหมายยอมรับไม่ได้เป็นส่วนใหญ่  เรียกว่า  มูลเหตุหลักที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสื่อมคุณภาพ (Primary Product Quality Attribute) และอาจมีมูลเหตุรองต่อๆ ไปเป็นอันดับ  2  และ  3  (Secondary, Tertiary Product Quality Attribute) จากมูลเหตุต่างๆ เหล่านี้  ค่อยวิเคราะห์สาเหตุและทำการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขกันต่อไป  เพื่อให้ได้อายุของผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องการ  โดยไม่เกิดการเสื่อมคุณภาพดังกล่าว

อาหารมีโอกาสเสื่อมคุณภาพด้วยปฏิกิริยาทางกายภาพและเคมีที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างอาหาร  กลไกที่มีส่วนทำให้สินค้าอาหารเสื่อมคุณภาพได้มีดังนี้คือ

(1)  อากาศ
ออกซิเจนในอากาศนับได้เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสินค้าอาหาร  เนื่องจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เกิดกับไขมันและโปรตีนในอาหาร  ทำให้เสียรสชาติและเกิดกลิ่นหืน  แหล่งที่ปล่อยออกซิเจนมาทำปฏิกิริยาอาจจะมีอยู่ในตัวอาหารเองหรือมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก  ดังนั้น  ในการบรรจุอาหารจึงต้องพยายามลดปริมาตรของอากาศภายในบรรจุภัณฑ์ (HeadSpace) ให้น้อยลงเพื่อลดโอกาสที่ออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับอาหาร  บรรจุภัณฑ์สุญญากาศ (Vacuum Packaging) ใช้หลักการเดียวกันนี้  โดยการดูดเอาอากาศภายในบรรจุภัณฑ์ออกเกือบหมด  เพื่อลดโอกาสในการทำปฏิกิริยาของออกซิเจนกับอาหาร  นับเป็นวิธีการยืดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วยเทคนิคทางด้านบรรจุภัณฑ์

(2)  ความชื้น
ความชื้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหาร  ความชื้นมีผลต่อเนื้อสัมผัส  เช่น  ความนุ่ม  ความเหนียว  ความกรอบ  เป็นต้น  มีผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์  ซึ่งทำให้อาหารเน่าเสีย (food spoilage)ได้  มีผลต่อปฏิกิริยาเคมีและชีวเคมี  เช่น  ปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสของไขมัน  ปฏิกิริยาที่เกิดจากการกระทำของเอนไซม์  เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ย่อมกล่าวได้ว่า  ความชื้นเปรียบเสมือนดาบ  2  คมสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร  ความชื้นที่มีจำนวนเหมาะสมจะเป็นองค์ประกอบในการช่วยถนอมรักษาคุณภาพอาหารด้วยการลดปฏิกิริยาชีวเคมีและเคมีของอาหาร  ถ้าความชื้นมีน้อยเกินไปจะทำให้อาหารเปราะแตกง่าย  ในการแปรรูปอาหารจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมปริมาณความชื้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับ  ดังเช่น  การอบแห้ง (dehydration) ซึ่งเป็นการสกัดน้ำออกจากอาหาร  ปริมาณของน้ำที่จะช่วยป้องกันการเสื่อมเสียของอาหารอันเนื่องมาจากจุลินทรีย์  การอบแห้งจะต้องดึงน้ำออกจากอาหารให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ  10  ขึ้นกับชนิดของอาหาร  และหากต้องการที่จะป้องกันการเสื่อมเสีย  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีควรให้มีปริมาณน้ำในอาหารต่ำลงอีกจนถึงประมาณร้อยละ  5

ตารางที่  4.1 :  จำนวนวันที่อาหารจำพวกเมล็ดธัญพืชสามารถเก็บโดยไม่เสีย (ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ  และปริมาณความชื้น)
อุณหภูมิในเมล็ดธัญพืช
(°C)
ระยะเวลา (วัน) ที่สามารถเก็บได้ที่ปริมาณความชื้น (%) ต่างๆ ในเมล็ดธัญพืช
14%
15.5%
17%
10.00
226  วัน
128  วัน
64  วัน
15.5
128  วัน
64  วัน
32  วัน
21.1
64  วัน
32  วัน
16  วัน
26.7
32  วัน
16  วัน
8  วัน
32.2
16  วัน
8  วัน
4  วัน
37.8
8  วัน
4  วัน
2  วัน
แหล่งที่มา :  เคียง  เมฆวเศรษฐ์พันธ์,  ปุ่น  คงเจริญเกียรติ,  วิบูลย์เกียรติ  โมฬีรตานนท์  "คู่มือบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปขนาดเล็กและครัวเรือน"

จากตารางข้างต้น  ถ้าผู้ผลิสามารถควบคุมปริมาณความชื้นไว้ที่  14%  และเก็บที่อุณหภูมิ  26.7°C  จะเก็บอาหารแปรรูปได้นานราว 1  เดือน (32  วัน) แต่ถ้าอบไม่แห้งสนิทมีความชื้น  17%  เมื่อเก็บที่อุณหภูมิเดียวกันจะสามารถเก็บได้นานเพียง  1  สัปดาห์  (8  สัปดาห์)

สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ควรเลือกใช้  จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ป้องกันความชื้นได้ดี ตัวอย่างเช่น HDPE OPP หรือ OPP เคลือบด้วย PVDC
2. ป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนได้ดี เช่น PET หรือ ไนลอน
3. ตัวบรรจุภัณฑ์ควรพิมพ์เป็นสีทึบ เพื่อป้องกันแสงแดดในการเร่งปฏิกิริยา

(3)  กลิ่น
กลิ่นหอมที่ชวนรับประทานของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด  และกลิ่นหอมนี้เป็นคุณสมบัติเด่นประจำอาหารแต่ละชนิด  ส่วนผสมของเคมีอาจมีมากถึง  20  ชนิด  ตัวอย่างเช่น  ในน้ำส้มที่ให้กลิ่นส้มอันน่ารับประทาน  โดยปกติกลิ่นเหล่านี้จะระเหยไปเมื่อถูกความร้อน  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ที่จะถนอมรักษากลิ่นเหล่านี้ไว้ในบรรจุภัณฑ์ไม่ให้หลุดหายมากเกินไปนักระหว่างการผ่านกระบวนการผลิต  เช่น  การฆ่าเชื้อ  การเก็บรักษาคงคลัง

(4)  การแยกตัว (Migration)
การแยกตัวของสารจากบรรจุภัณฑ์เข้าสู่อาหารมักเกิดกับพลาสติก  เนื่องจากพลาสติกโดยปกติประกอบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่  แต่มีส่วนผสมของสารโมเลกุลขนาดเล็กที่มีโอกาสแยกตัวออกมาแล้วเข้าไปผสมกับอาหารที่บรรจุอยู่ภายใน  ซึ่งถ้ามีการแยกตัวออกมาจะไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย  โดยปกติการแยกตัวดังกล่าวเกิดขึ้นที่ปริมาณน้อยจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และไม่เป็นอันตรายเพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของวัสดุศาสตร์และการแปรรูป  นอกจากว่าการแยกตัวนี้จะมีผลทำให้กลิ่นผิดปกติขึ้นมาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ

(5)  แสง
แสงที่ส่องผ่านบรรจุภัณฑ์มักจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยมี  2  กรณี  คือ

1.  แสงจะทำให้คุณค่าอาหารลดลงแม้ว่าจะไม่มีผลต่อรสชาติ  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด  คือ  นม  สารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพในนมที่เรียกว่า Riboflavin จะเสื่อมคุณภาพเพราะแสง  โดยแสงเหนือม่วง (Ultraviolet)

2.  มีการเปลี่ยนแปลงต่อรสชาติทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารไม่เป็นที่ยอมรับ  เบียร์ที่เห็นอยู่ทั่วไปมักบรรจุในขวดสีชาหรือสีเขียว  เนื่องจากแสง  สามารถทำให้รสชาติเปลี่ยนได้  หรือซอสมะเขือเทศจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มเมื่อได้รับแสงและมีออกซิเจนอยู่มากพอ

กลไกการทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพของแสงมักจะเกิดจากปฏิกิริยาของเอนไซม์ (Enzyme) วิธีแก้  คือ  พยายามใช้บรรจุภัณฑ์ที่กรองแสงได้มากดังแสดงในรูปที่  4.1


รูปที่  4.1  การเปรียบเทียบความสามารถของการกรองแสงของพลาสติกแต่ละชนิด
แหล่งที่มา :  เคียง  เมฆวเศรษฐ์พันธ์,  ปุ่น  คงเจริญเกียรติ,  วิบูลย์เกียรติ  โมฬีรตานนท์  "คู่มือบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปขนาดเล็กและครัวเรือน"

รูปที่แสดงนี้จะเห็นได้ว่าวัสดุบรรจุภัณฑ์สามารถกรองแสงได้ต่างกัน  จะพบว่า  LDPE (G) จะปล่อยให้แสงผ่านได้มากไม่ว่าแสงมีความยาวคลื่นใดๆ ในขณะที่ HDPE (A) ยอมให้แสงผ่านได้น้อยกว่า  นอกจากนี้  การส่องผ่านของแสงยังทำให้นมสูญเสียวิตามินไปตามปริมาณแสงที่ผ่าน

ตารางที่  4.2 :  ความสูญเสียวิตามิน  เนื่องจากแสงผ่านวัสดุบรรจุภัณฑ์ (ที่ความเข้มแสง  1076  ลักซ์  เป็นเวลานาน  24  ชั่วโมงที่  4°C)
วิตามิน
ปริมาณปกติ (มก./ล.)
%  ความสูญเสียวิตามินของภาชนะบรรจุนม
กล่องกระดาษ
ถุงพลาสติกใส
ขวด  PE
ขวด  PE  ดำ
ซี
10.0
23.6
86.2
90.9
13.0
บี2
17.0
7.1
11.1
22.3
0.0
แหล่งที่มา :  เคียง  เมฆวเศรษฐ์พันธ์,  ปุ่น  คงเจริญเกียรติ,  วิบูลย์เกียรติ  โมฬีรตานนท์  "คู่มือบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปขนาดเล็กและครัวเรือน"


ส่วนเปลวอะลูมิเนียมแทบไม่ให้แสงผ่านได้เลยด้วยเหตุนี้กล่องนมหรือกล่องรูปอิฐที่ผ่านระบบการฆ่าเชื้อแบบ  UHT  จึงมีชั้นของเปลวอะลูมิเนียมแทรกอยู่ชั้นหนึ่งในจำนวน  7  ชั้น  อันได้แก่  PE  /  กระดาษ  /  PE  /  กระดาษ  /  PE  /  อะลูมิเนียม  /  PE  ซึ่งสามารถเก็บนมได้นานถึง  6  เดือน

(6)  ความร้อนและความเย็น
แม้ว่าในการถนอมอาหารบางชนิดจะใช้ความร้อนในการช่วยการรักษาคุณภาพอาหาร  แต่การใช้ความร้อนหรือความเย็นเกินขนาดกลับจะเป็นผลร้ายต่อคุณภาพอาหาร  การได้รับความร้อนเกินขนาดจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารที่เรียกกันว่าสุกมากเกินไป  (Overcook)  ในทางกลับกันการให้ความเย็นมากเกินไปจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่าไหม้ด้วยความหนาว (Freeze Burn) เหตุการณ์ทั้ง  2  นี้สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม  ความร้อนที่มากเกินไปแก้ไขได้โดยการเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อนได้ดีขึ้น  ส่วนการถูกไฟไหม้ด้วยความหนาวนั้นใช้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ห่อผลิตภัณฑ์อาหารให้แน่นด้วยวัสดุป้องกันความชื้น

(7)  อันตรายทางกายภาพ
ในระหว่างการขนส่ง  ผลิตภัณฑ์อาหารมีโอกาสเสียดสี  กระแทก  กดทับ  เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีผิวเปราะบาง  เช่น  ผัก  ผลไม้สด  ของทอด  ย่อมมีโอกาสช้ำและแตกหัก  เปิดโอกาสให้จุลินทรีย์และสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น  มด  เข้าไปทำลายอาหารได้  ความเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นนี้ย่อมลดโอกาสการจำหน่ายของสินค้า  มิฉะนั้นต้องขายลดราคา

(8)  สัตว์ต่างๆ
ประเมินกันว่า  ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตผลทางเกษตรที่มีอยู่ในโลกนี้  ประมาณ  30%  ถูกทำลายด้วยสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย  ตั้งแต่หนู  ตัวแมลง  โดยเฉพาะในการเก็บเกี่ยวหรือการเก็บในคลังสินค้าของวัตถุดิบต่างๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีตั้งแต่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตผลทางการเกษตรปนเปื้อน  ลดคุณค่าทางอาหาร  หรือเสียหายเนื่องจากกลายเป็นอาหารของสัตว์เหล่านี้ไป


การลดความเสียหายจากการทำลายของสัตว์เกี่ยวเนื่องกับการจัดการ  การขนย้าย  การเก็บคงคลัง  บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะใดๆ ที่ใช้จำต้องปิดสนิท  วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันสัตว์เหล่านี้ได้ดี  คือ  แก้วและกระป๋อง  ในขณะที่วัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ นับเป็นอาหารชั้นดีของสัตว์  ดังนั้นมาตรการการป้องกันสัตว์เหล่านี้โดยใช้บรรจุภัณฑ์จึงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่ากับการจัดการการดูแลเก็บสินค้าให้ดี


กล่าวโดยสรุปอาหารสามารถเสื่อมคุณภาพจนกระทั่งเน่าเสียได้โดยธรรมชาติ  องค์ประกอบต่างๆ ของกระบวนการผลิตและสภาวะการเก็บต่างมีผลทำให้อาหารแปรเปลี่ยนคุณภาพได้  ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของอาหารสรุปได้ด้วยแผนภูมิข้างล่างนี้

รูปที่  4.2 : ปัจจัยในการเลือกบรรจุภัณฑ์อาหาร


ปฏิกิริยาทางชีวภาพที่เกิดภายในผลิตภัณฑ์อาหารมีทั้งแบคทีเรีย  ยีสต์  เชื้อรา  พร้อมทั้งสารต่างๆที่จุลินทรีย์ผลิต ถ้าผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้รับการเตรียมอย่างถูกสุขลักษณะ  นอกเหนือจากนี้  ภายในผลิตภัณฑ์อาหารเองจะมีปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้น  เช่น  ปฏิกิริยาระหว่าง กรดอะมิโนกับน้ำตาลทำให้เกิด  Browning Reaction  ผลจากปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้แสดงออกทางกายภาพ  คือ  การหดตัว  การหลอมละลาย  การตกผลึก  เป็นต้น


ที่มา  http://www.foodnetworksolution.com/knowledge/content/121

กล้วยผลไม้คู่บ้านคนไทย

กล้วยผลไม้คู่บ้านคนไทยที่มีคุณค่าอาหารทั้งให้พลังงานและสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายหลายอย่าง
โดย...วรธาร ทัดแก้ว

"กล้วย" ผลไม้ที่คนไทยรู้จักและนิยม รับประทานกันมานาน แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่าในกล้วยแต่ละลูกนั้นมีสารอาหารดีๆ อะไร และเมื่อรับประทานแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพอย่างไร ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้วิจัยเรื่องกล้วยจะให้ความรู้ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ พร้อมถือโอกาสชวนคนไทยหันมารับประทานกล้วยเพื่อสุขภาพที่ดี
กล้วย...ทางเลือกเพื่อสุขภาพ
ดร.เนตรนภิส กล่าวว่า การบริโภคกล้วยเป็นประจำนั้นถือเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพเพราะมีปริมาณอา ร์เอสสูง และมีอัตราการย่อยช้ากว่าแป้งอื่นๆ และการเปลี่ยนแปลงสตาร์ชเป็นกลูโคสอย่างช้าๆ จึงได้ช่วยลดอัตราการดูดซึมและการเปลี่ยนเป็นพลังงานทำให้ร่างกายได้รับ พลังงานที่ต่ำลง นอกจากนี้อาร์เอสของกล้วยยังมีสมบัติเป็นพรีไบโอติกหรือซับสเตรต ให้กับจุลินทรีย์กลุ่มแล็กโตบาซิลลัส เป็นผลให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารเป็นปกติดี
ชวนคนไทยมากินกล้วย
อาจารย์ประจำสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกกล้วยและมีสายพันธุ์กล้วยมากมาย การส่งเสริมการบริโภคกล้วยเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนหัน มาบริโภคกล้วยให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้วยสุกที่รับประทานได้ทั้งผล หรือกล้วยดิบที่มีตำรับอาหารพื้นบ้านมากมายที่ใช้กล้วยประกอบอาหารคาว ได้แก่ แกงกล้วย ส้มตำกล้วย แหนมเนือง ยำต่างๆ และเครื่องเคียงน้ำพริก เป็นต้น ส่วนอาหารหวานมีหลายอย่าง ได้แก่ กล้วยฉาบ กล้วยปิ้ง กล้วยเผา กล้วยต้ม กล้วยเชื่อม ขนมกล้วย และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังแปรรูปกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายวิธีการ เช่น กล้วยดอง ขนมปังกล้วย ไอศกรีม และเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งควรสนับสนุนการนำกล้วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อสุขภาพในระดับอุตสาหกรรมให้มากขึ้น รักสุขภาพ...มารับประทานเพื่อสุขภาพกันเถิด
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 7 กุมภาพันธ์ 53
http://www.bangpan.org/content/110213135000