อมรรัตน์

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

การวางแผนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

  การวางแผนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ มีความสำคัญที่สุดในการเริ่มการผลิต และเมื่อได้มีการผลิตสินค้าหรือเสนอบริการแล้วก็จะไปสนใจต่อการปรับปรุงแก้ไขสินค้าบริการต่อไป ซึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานที่ดีขึ้น หรือเพราะความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการเปลี่ยนแปลงในต้นทุนของวัตถุดิบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับการวางแผนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการพยากรณ์การผลิต แรงกดดันอาจมาจากลูกค้าคู่แข่ง กฎหมาย หรือภายในกิจการเองก็ได้

ความหมายของการวางแผนผลิตภัณฑ์ 

          การสร้างความเชื่อถือให้เกิดในสินค้าจะเป็นสิ่งกระตุ้นอย่างดีให้มีการปรับปรุงคุณภาพในสินค้าความเชื่อถือในสินค้าจะลดลงถ้าพบว่าสินค้านั้นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่บอกไว้ หรือสินค้ามีข้อบกพร่องซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการออกแบบไม่ดี หรือสาเหตุจากฝีมือการผลิตไม่ดีก็ตาม กิจการจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายในสินค้าที่ผลิตออกจำหน่ายรวมถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย การวางแผนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิต การตัดสินใจเกี่ยวกับระบบการผลิต และการออกแบบระบบการผลิต การเลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์และวิธีการดำเนินงาน ตามวัตถุประสงค์ขององค์การนั้น

          คำว่าผลิตภัณฑ์ (product) จะหมายถึงผลิตผลที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งหมายรวมถึงสินค้าที่มีตัวตนและบริการด้วย
          การตัดสินใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จะเกี่ยวข้องกับการรวบรวมความคิดของสินค้าอย่างเป็นระบบ และเลือกผลิตสินค้าที่ตรงกับจุดมุ่งหมายของกิจการ
          การออกแบบผลิตภัณฑ์จะหมายรวมถึงการปรับปรุงแบบใหม่ๆให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่และผลิตภัณฑ์เก่าด้วย
          การตัดสินใจเกี่ยวกับระบบ หรือการเลือกระบบการผลิตเกี่ยวกับกรรมวิธีที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบต่าง ๆ ให้เป็นผลผลิต

ความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

          การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดให้ดียิ่งขึ้น หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความหลากหลายในรสชาติ รูปแบบ สีสัน ฯลฯ หรือการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (innovation) เกิดจากความจำเป็น ปัญหา หรือการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีสาเหตุมาจาก

          1. วัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีช่วงเวลาที่สั้นลง ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันเกิดและรุ่งเรืองจนกระทั่งเสื่อมความนิยมได้อย่างรวดเร็วกว่าในสมัยก่อน เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันล้ำหน้าด้วยวิทยาการที่ทันสมัยกว่า การแข่งขันของธุรกิจก็มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลง ต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับคงที่ มิฉะนั้นก็จะต้องออกจากธุรกิจนั้นไป บางครั้งธุรกิจต้องใช้วิธี cannibalism ซึ่งเป็นการดับรัศมีผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตและจำหน่ายอยู่แม้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังคงทำเงินให้แก่ธุรกิจ ด้วยการผลิตของรุ่นใหม่ที่ดีกว่าด้วยราคาที่แข่งขันได้ในตลาดแล้วลดราคาตัวเก่าลง วัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ
                 1.1 ขั้นแนะนำสินค้า (introduction)
          1.2 ขั้นยอดขายเจริญเติบโต (growth)
          1.3 ขั้นยอดขายอิ่มตัว (maturity)
          1.4 ขั้นยอดขายลดลง (decline)

          สินค้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดความต้องการในระยะแรก ๆ อาจจะต่ำ มีน้อย เพราะผู้ซื้อยังไม่คุ้นเคยกับสินค้า ราคาสินค้าในช่วงนี้อาจจะต่ำ เมื่อสินค้าเข้าสู่ขั้นยอดขายอิ่มตัว อาจจะต้องมีการพัฒนาสินค้ารูปแบบหรือเพิ่มขนาดใหม่ อาจมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาแทนที่สินค้าเก่าที่จะหายไปเช่นพัฒนาโทรทัศน์สีมาแทนโทรทัศน์ขาวดำ เตารีดไฟฟ้าแทนเตารีดถ่าน เป็นต้น

          2. ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันรีบเร่งมากขึ้น ต้องอาศัยเครื่องทุ่นแรงมากขึ้นเพื่อประหยัดเวลาในการทำงานบ้านหรือการทำความสะอาด การเลียนแบบวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญทำให้เครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่นการสวมเสื้อสูทในงานที่เป็นทางการ หรือการสร้างบ้านทรงแบบตะวันตก การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมนอกจากนั้นความต้องการของลูกค้ายังเปลี่ยนแปลงไปเพราะการติดต่อสื่อสารที่ทั่วถึงกันทุกมุมโลก ข้อมูลสารสนเทศถูกแพร่กระจายในสื่อต่าง ๆ เช่น  Internet ทำให้เกิดการรับรู้และสนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การเกิดอุปสงค์ในสินค้าและบริการใหม่นั้น

          3. สภาพเศรษฐกิจ ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเศรษฐกิจดีลูกค้าจะมีกำลังซื้อสูง การเสนอสินค้ารูปแบบทันสมัยสวยงาม หน้าที่การใช้งานครบครันและราคาค่อนข้างสูงจะสามารถทำตลาดได้ไม่ยากแต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง การเสนอสินค้าที่มีความทนทาน ในการใช้งานที่มีคุณภาพพอสมควรและราคาประหยัด จึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าจำนวนมากได้ สภาพเศรษฐกิจมีผลอย่างมากต่อระดับรายได้ของลูกค้า ดังนั้นอัตราดอกเบี้ย อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราการว่างงาน รายได้ประชาชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภค ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อระดับอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลต่อความจำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยรักษาระดับส่วนแบ่งตลาดขององค์การธุรกิจนั้นเอาไว้

          4. สภาพแวดล้อม สภาพอวดล้อมที่องค์การควบคุมไม่ได้ เช่น กฎหมาย การเมือง ตีกรอบกำหนดรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือกฎหมายสาธารณสุขว่าด้วยอาหารและยา กำหนดส่วนผสมของอาหารและขนม และควบคุมความสะอาดของตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อจำกัดหนึ่ง หรือ กระทรวงพาณิชย์กำหนดขนาดบรรจุของน้ำดื่ม และมาตรฐานราคา เป็นต้น รวมไปถึงมาตรฐานคุณภาพสากลก็มีผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะออกไปสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศด้วย

          ทุกคนในองค์การสามารถมีส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายการผลิตและฝ่ายการตลาดจะต้องร่วมมือกันอย่างดี เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์ขององค์การ ซึ่งการจัดทีมงานแบบ cross function จะช่วงให้การประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกันมากกว่าการแบ่งงานตามหน้าที่ของแต่ละแผนก นอกจากฝ่ายการตลาดแล้ว ฝ่ายการผลิตยังต้องประสานงานกับฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายการเงิน และผู้บริหารระดับสูง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถทำกำไรให้แก่องค์การ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น