อมรรัตน์

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์คืออะไร (What is a product?)

          ผลิตภัณฑ์ หมายถึง สิ่งที่นำเสนอแก่ตลาดเพื่อให้เกิดความสนใจ การซื้อ การใช้ หรือการบริโภคซึ่งสามารถตอบสนองความจำเป็นและความต้องการได้ (Anything that can be offered to a market for attention, acquisition, use, or consumption that might satisfy a want or need)       
   
ระดับหรือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ (levels of product / product component)

ผลิตภัณฑ์สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับ หรือ 5 องค์ประกอบด้วยกัน คือ
          1. Core product (ผลิตภัณฑ์หลัก) คือ ประโยชน์พื้นฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการซื้อสินค้านั้นโดยตรง
          2. Tangible or formal product (รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์) คือ ลักษณะทางกายภาพที่ผู้บริโภคสามารถสัมผัสหรือรับรู้ได้ ประกอบด้วย
               2.1 ระดับของคุณภาพ (quality level)
               2.2 รูปร่างลักษณะ (features)
               2.3 การออกแบบ (design)
               2.4 บรรจุภัณฑ์ (packaging)
               2.5 ชื่อตราสินค้า (brand name)
          3. Expected product (ผลิตภัณฑ์ที่คาดหวัง) คือ คุณสมบัติหรือเงื่อนไขที่ผู้ซื้อคาดหวังว่าจะได้รับจากการซื้อสินค้า หรือเป็นข้อตกลงในการซื้อสินค้า
          4. Augmented product (ผลิตภัณฑ์ควบ) คือ ผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ผู้ซื้อจะได้รับควบคู่ไปกับการซื้อสินค้านั้น ๆ ตัวอย่างเช่น
               4.1 การให้บริการติดตั้ง (installation)
               4.2 การขนส่ง (transportation)
               4.3 การรับประกัน (insurance)
               4.4 การให้สินเชื่อ (credit) 
          5. Potential product (ศักยภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์) คือ ส่วนของผลิตภัณฑ์ควบที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไป เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต

ประเภทของผลิตภัณฑ์ (product classification)

ผลิตภัณฑ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผลิตภัณฑ์บริโภคและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. ผลิตภัณฑ์บริโภค (consumer product) 
          หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อโดยผู้บริโภคคนสุดท้าย เพื่อใช้ในการบริโภคส่วนบุคคล แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
               1.1 ผลิตภัณฑ์สะดวกซื้อ (convenience product) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้ : 
                       - ซื้อบ่อย
                       - การตัดสินใจซื้อเป็นแบบทันทีทันใด ใช้เวลาในการวางแผนในการซื้อน้อย
                       - มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ในแต่ละยี่ห้อน้อย
                       - เป็นสินค้าที่ราคาไม่สูง 
                       - มีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง 
          ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร น้ำตาล น้ำปลา เกลือ ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น
               1.2 ผลิตภัณฑ์เลือกซื้อ (shopping product) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้ : 
                       - ซื้อไม่บ่อย
                       - ต้องมีการวางแผนในการซื้อ
                       - มีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์แต่ละตราสินค้าในด้านต่าง ๆ เช่น ราคา คุณภาพ รูปแบบ 
                       - เป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง 
                       - มีการกระจายสินค้าแบบเลือกสรร
          ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
               1.3 ผลิตภัณฑ์เจาะจงซื้อ (specialty product) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้ : 
                       - เป็นตราสินค้าที่มีชื่อเสียง และผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อตราสินค้านั้น
                       - มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ในแต่ละยี่ห้อน้อย
                       - ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย
                       - เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง high price
                       - มีการกระจายสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง คือมีจำหน่ายเพียง 1-2 แห่งในแต่ละตลาด
          ตัวอย่างเช่น รถเบนซ์ นาฬิกาโรเล็กซ์ กางเกงยีนส์ลีวายส์ เครื่องแต่งกายจากต่างประเทศเครื่องประดับราคาแพง เป็นต้น
               1.4 ผลิตภัณฑ์ไม่แสวงซื้อ (unsought product) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้ : 
                       - ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์น้อย หรือไม่รู้จักมาก่อน
                       - มีราคาและการกระจายสินค้าที่แตกต่างกันออกไป
          ตัวอย่างเช่น ประกันชีวิต สารานุกรม เป็นต้น

          2. ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (industrial product)
     หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่บุคคลหรือองค์กรซื้อไป เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือในการทำธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
               2.1 วัสดุและชิ้นส่วนประกอบ (materials and parts) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
                    1) วัตถุดิบ (raw materials) เป็นสินค้าที่เกิดจากธรรมชาติ หรือสินค้าทางการเกษตรซึ่งยังไม่ผ่านการแปรรูป
                    2) วัสดุและชิ้นส่วนประกอบการผลิต (manufactured materials and parts) เป็นส่วนประกอบสำหรับการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผ่านการแปรรูปมาแล้ว
               2.2 สินค้าประเภททุน (capital items) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
                    1) สิ่งติดตั้ง (installations) ได้แก่ อาคารโรงงาน เครื่องจักรขนาดใหญ่ 
                    2) อุปกรณ์ประกอบ (accessory equipment) ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในโรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายหรือพกพา อุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
               2.3 วัสดุสิ้นเปลืองและบริการ (supplies and services) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
                    1) วัสดุสิ้นเปลือง (supplies) เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการดำเนินงาน หรือใช้ในการซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรอื่น ๆ ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้นใช้แล้วหมดไป เช่น ปากกา ดินสอ กระดาษ กาว ลวดเย็บกระดาษ ตะปู ไม้กวาด น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
                    2) บริการ (services) ได้แก่ บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษา หรือบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เช่น บริการรักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาดบริษัทรับทำโฆษณา บริษัทให้คำปรึกษาทางกฎหมาย เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น